โครงสร้างของหลักสูตร

               เพื่อให้การจัดการศึกษาเป็นไปตามหลักการ จุดหมายที่กำหนดไว้ให้สถานศึกษาและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการอบรมเลี้ยงดูเด็กปฏิบัติ ในการจัดหลักสูตรสถานศึกษาปฐมวัยจึงกำหนดโครงสร้างของหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย 

                                 1.4.1  การจัดชั้นหรือกลุ่มเด็ก  ให้ยึดอายุเป็นหลักและอาจเรียกชื่อแตกต่างกันไปตาม       หน่วยงานที่รับผิดชอบดูแล เช่น   กลุ่มเด็กที่มีอายุ  3 ปี  อาจเรียกชื่อ อนุบาล 1 กลุ่มเด็กที่มีอายุ 4 ปี อาจเรียกชื่ออนุบาล 2    กลุ่มเด็กที่มีอายุ  5   ปี อาจเรียกชื่อ อนุบาล 3 หรือเด็กเล็ก ฯลฯ
                                1.4.2 ระยะเวลาเรียนใช้เวลาในการจัดประสบการณ์ให้กับเด็ก 1-3 ปีการศึกษาโดยประมาณ       ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอายุของเด็กที่เริ่มเข้ารับการอบรมเลี้ยงดูและให้การศึกษา                                       
                               
1.4.3 สาระการเรียนรู้ สาระการเรียนรู้ของหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย  สำหรับเด็กอายุ 3 - 5 ปี ประกอบด้วย 2 ส่วน คือประสบการณ์สำคัญและสาระที่ควรเรียนรู้   ทั้งสองส่วนใช้เป็นสื่อกลางในการจัดประสบการณ์   เพื่อส่งเสริมพัฒนาการทุกด้านทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และ สติปัญญา ซึ่งจำเป็นต่อการพัฒนาเด็กให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์โดยผู้สอนหรือผู้จัดการศึกษาอาจจัดในรูปแบบหน่วยการสอนแบบบูรณาการหรือเลือกใช้รูปแบบที่เหมาะสมกับเด็กปฐมวัยรวมทั้งต้องสอดคล้องกับปรัชญาและหลักการจัดการศึกษาปฐมวัย                                                                
                                                1) ประสบการณ์สำคัญ จะช่วยอธิบายให้ผู้สอนเข้าใจว่าเด็กปฐมวัยต้องทำอะไร เรียนรู้สิ่งต่างๆรอบตัว อย่างไร  และทุกประสบการณ์มีความสำคัญต่อพัฒนาการของเด็ก ช่วยแนะผู้สอนในการสังเกต สนับสนุน และวางแผนการจัดกิจกรรมให้เด็ก ประสบการณ์สำคัญที่กำหนดไว้ในหลักสูตรมีความสำคัญต่อการสร้างองค์ความรู้ของเด็ก ตัวอย่างเช่น เด็กเข้าใจความหมายของพื้นที่ ระยะ ผ่านประสบการณ์สำคัญการบรรจุและเทออก ดังนั้นผู้สอนจึงวางแผนจัดกิจกรรมให้เด็กเล่นบรรจุทราย/น้ำลงในภาชนะหรือถ่ายเททราย/น้ำออกจากภาชนะต่างๆ ขณะเล่นทรายเล่นน้ำ เด็กจะเรียนรู้ผ่านประสบการณ์สำคัญซ้ำแล้วซ้ำอีก มีการปฏิสัมพันธ์กับวัตถุ สิ่งของ ผู้ใหญ่ และเด็กอื่น ฯลฯ ผู้สอนที่เข้าใจและเห็นความสำคัญจะยึดประสบการณ์สำคัญเป็นเสมือนเครื่องมือสำหรับการสังเกตพัฒนาการเด็ก  แปลการกระทำของเด็ก ช่วยตัดสินใจเกี่ยวกับการจัดสื่อ และช่วยวางแผนกิจกรรมในแต่ละวัน ประสบการณ์สำคัญสำหรับเด็กอายุ 3-5 ปี จะครอบคลุมพัฒนาการทั้ง 4 ด้าน คือ
ประสบการณ์สำคัญที่ส่งเสริมพัฒนาการด้านร่างกาย เป็นการสนับสนุนให้เด็กได้มีโอกาสดูแลสุขภาพและสุขอนามัย รักษาความปลอดภัย พัฒนากล้ามเนื้อใหญ่และกล้ามเนื้อเล็ก
ประสบการณ์สำคัญที่ส่งเสริมพัฒนาการด้านอารมณ์และจิตใจ เป็นการสนับสนุนให้เด็กได้แสดงออกทางอารมณ์และความรู้สึกที่เหมาะสมกับวัย มีความสุข ร่าเริงแจ่มใสได้พัฒนา                 คุณธรรมจริยธรรม สุนทรียภาพ ความรู้สึกที่ดีต่อตนเองและความเชื่อมั่นในตนเองขณะปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ
ประสบการณ์สำคัญที่ส่งเสริมพัฒนาการด้านสังคม เป็นการสนับสนุนให้เด็กได้มีโอกาสปฏิสัมพันธ์กับบุคคลและสิ่งแวดล้อมต่างๆรอบตัวจากการปฏิบัติกิจกรรมต่างๆผ่านการเรียนรู้ทางสังคม เช่น การเล่น การทำงานกับผู้อื่น การปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน การแก้ปัญหาข้อขัดแย้งต่างๆ ฯลฯ
ประสบการณ์สำคัญที่ส่งเสริมพัฒนาการด้านสติปัญญา เป็นการสนับสนุนให้เด็กได้รับรู้ เรียนรู้สิ่งต่างๆรอบตัว   ด้วยประสาทสัมผัสทั้งห้า ผ่านการคิด การใช้ภาษา การสังเกต การจำแนกและเปรียบเทียบ จำนวน มิติสัมพันธ์(พื้นที่/ระยะ) และเวลา
                                                2) สาระที่ควรเรียนรู้ สาระในส่วนนี้กำหนดเฉพาะหัวข้อไม่มีรายละเอียดทั้งนี้                 เพื่อประสงค์จะให้ผู้สอนสามารถกำหนดรายละเอียดขึ้นเองให้สอดคล้องกับวัย ความต้องการ ความสนใจของเด็ก   อาจยืดหยุ่นเนื้อหาได้โดยคำนึงถึงประสบการณ์  และสิ่งแวดล้อมในชีวิตจริงของเด็ก ผู้สอนสามารถนำสาระที่ควรเรียนรู้มาบูรณาการ จัดประสบการณ์ต่างๆให้ง่ายต่อการ เรียนรู้  ทั้งนี้มิได้ประสงค์ให้เด็กท่องจำเนื้อหา  แต่ต้องการให้เด็กเกิดแนวคิดหลังจากนำ สาระการเรียนรู้นั้นๆมาจัดประสบการณ์ให้เด็กเพื่อให้บรรลุจุดหมายที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ สาระที่ควรเรียนรู้ยังใช้เป็นแนวทางช่วยผู้สอนกำหนดรายละเอียดและความยากง่ายของเนื้อหาให้เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็ก สาระที่ควรเรียนรู้ประกอบด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับตัวเด็ก เรื่องราวเกี่ยวกับบุคคลและสถานที่แวดล้อมเด็ก ธรรมชาติรอบตัว และสิ่งต่างๆรอบตัวเด็ก  ดังนี้
                                (1) เรื่องราวเกี่ยวกับตัวเด็ก เด็กควรรู้จักชื่อ นามสกุล รูปร่าง หน้าตาของตน รู้จักอวัยวะต่างๆ และวิธีระวังรักษาร่างกายให้สะอาด ปลอดภัย มีสุขอนามัยที่ดี เรียนรู้ที่จะเล่นและ ทำสิ่งต่างๆด้วยตนเองคนเดียวหรือกับผู้อื่น ตลอดจนเรียนรู้ที่จะแสดงความคิดเห็น ความรู้สึก และแสดงมารยาทที่ดีทั้งนี้ เมื่อเด็กมีโอกาสเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับตนเองแล้ว เด็กควรจะเกิดแนวคิดดังนี้
v ฉันมีชื่อตั้งแต่เกิด   ฉันมีเสียง  รูปร่างหน้าตาไม่เหมือนใคร  ฉันภูมิใจที่เป็น ตัวฉันเองเป็นคนไทยที่ดี มีมารยาท มีวินัย รู้จักแบ่งปัน ทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง  เช่น  แต่งตัว  แปรงฟัน รับประทานอาหาร  ฯลฯ          
v ฉันมีอวัยวะต่าง    เช่น ตา หู จมูก ปาก  ขา  มือ  ผม นิ้วมือ  นิ้วเท้า ฯลฯ และ ฉันรู้จักวิธีรักษาร่างกายให้สะอาด  ปลอดภัย  มีสุขภาพดี
v ฉันต้องรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ออกกำลังกาย และพักผ่อน เพื่อให้ร่างกายเจริญเติบโต
v ฉันเรียนรู้ข้อตกลงต่าง ๆ รู้จักระมัดระวังรักษาความปลอดภัยของตนเองและผู้อื่นเมื่อทำงาน   เล่นคนเดียว  และเล่นกับผู้อื่น
v ฉันอาจรู้สึกดีใจ  เสียใจ  โกรธ  เหนื่อย  หรืออื่น ๆ   แต่ฉันเรียนรู้ที่จะแสดงความรู้สึกในทางที่ดี และเมื่อฉันแสดงความคิดเห็น หรือทำสิ่งต่าง ๆด้วยความคิดของตนเอง  แสดงว่าฉันมีความคิดสร้างสรรค์  ความคิดของฉันเป็นสิ่งสำคัญ แต่คนอื่นก็มีความคิดที่ดีเหมือนฉันเช่นกัน
 (2)   เรื่องราวเกี่ยวกับบุคคลและสถานที่แวดล้อมเด็ก   เด็กควรได้มีโอกาสรู้จักและรับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับครอบครัว สถานศึกษา ชุมชน รวมทั้งบุคคลต่างๆที่เด็กต้องเกี่ยวข้อง หรือมีโอกาสใกล้ชิดและมีปฏิสัมพันธ์ในชีวิตประจำวัน ทั้งนี้ เมื่อเด็กมีโอกาสเรียนรู้แล้วเด็กควรเกิดแนวคิด ดังนี้
v ทุกคนในครอบครัวของฉันเป็นบุคคลสำคัญ ต้องการที่อยู่อาศัย  อาหาร  เสื้อผ้า  และยารักษาโรค  รวมทั้งต้องการความรัก  ความเอื้ออาทร  ช่วยดูแลซึ่งกันและกัน  ช่วยกันทำงานและปฏิบัติตามข้อตกลงภายในครอบครัว  ฉันต้องเคารพ เชื่อฟังพ่อแม่และผู้ใหญ่ในครอบครัว  ปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามกาลเทศะ  ครอบครัวของฉันมีวันสำคัญต่าง ๆ  เช่น  วันเกิดของบุคคลในครอบครัว  วันทำบุญบ้าน ฯลฯ  ฉันภูมิใจในครอบครัวของฉัน 
v สถานศึกษาของฉันมีชื่อเป็นสถานที่ที่เด็กๆมาทำกิจกรรมร่วมกันและทำให้ได้เรียนรู้สิ่งต่างๆมากมาย สถานศึกษาของฉันมีคนอยู่ร่วมกันหลายคน ทุกคนมีหน้าที่            รับผิดชอบ ปฏิบัติตามกฏระเบียบ   ช่วยกันรักษาความสะอาดและทรัพย์สมบัติของสถานศึกษา  ส่วนครูรักฉันและเอาใจใส่ดูแลเด็กทุกคน  เวลาทำกิจกรรมฉันและเพื่อนจะช่วยกันคิด  ช่วยกันทำ  รับฟังความคิดเห็น  และรับรู้ความรู้สึกซึ่งกันและกัน
v ท้องถิ่นของฉันมีสถานที่ บุคคล แหล่งวิทยากร แหล่งเรียนรู้ต่างๆที่สำคัญ  คนในท้องถิ่นที่ฉันอาศัยอยู่มีอาชีพที่หลากหลาย  เช่น ครู แพทย์  ทหาร  ตำรวจ   ชาวนา  ชาวสวน  พ่อค้า  แม่ค้า  ฯลฯ   ท้องถิ่นของฉันมีวันสำคัญของตนเอง  ซึ่งจะมีการปฏิบัติกิจกรรมที่แตกต่างกันไป
v ฉันเป็นคนไทย มีวันสำคัญของชาติ   ศาสนา และ พระมหากษัตริย์  มี วัฒนธรรม   ขนบธรรมเนียมประเพณีหลายอย่าง  ฉันและเพื่อนนับถือศาสนา หรือมีความเชื่อที่เหมือนกันหรือแตกต่างกันได้  ศาสนาทุกศาสนาสอนให้ทุกคนเป็นคนดี ฉันภูมิใจที่ฉันเป็นคนไทย
                                                                (3)  ธรรมชาติรอบตัว เด็กควรจะได้รู้จักสิ่งมีชีวิตที่เป็นต้นไม้ ดอกไม้ สัตว์ รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงของโลกที่แวดล้อมเด็กตามธรรมชาติ เช่น ฤดูกาล  กลางวัน  กลางคืน  ฯลฯ            แนวคิดที่ควรให้เกิดหลังจากเด็กเรียนรู้ธรรมชาติรอบตัว  มีดังนี้
v ธรรมชาติรอบตัวฉันมีทั้งสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิต สิ่งมีชีวิตต้องการอากาศ แสงแดด น้ำและอาหารเพื่อเจริญเติบโต  สิ่งมีชีวิตสามารถปรับตัวให้เข้ากับลักษณะอากาศ ฤดูกาล และยังต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน   สำหรับสิ่งไม่มีชีวิต  เช่น  น้ำ  หิน  ดิน  ทราย ฯลฯ   มีรูปร่าง  สี  ประโยชน์  และโทษต่างกัน
v ลักษณะอากาศรอบตัวแต่ละวันอาจเหมือนหรือแตกต่างกันได้  บางครั้งฉันทายลักษณะอากาศได้จากสิ่งต่างๆ รอบตัว  เช่น  เมฆ  ท้องฟ้า  ลม  ฯลฯในเวลากลางวันเป็นช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์ขึ้นจนดวงอาทิตย์ตก  คนส่วนใหญ่จะตื่นและทำงาน ส่วนฉันไปโรงเรียนหรือเล่น เวลากลางคืนเป็นช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์ตกจนดวงอาทิตย์ขึ้น ฉันและคนส่วนใหญ่จะนอนพักผ่อนตอนกลางคืน
v สิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติรอบตัวฉัน เช่น ต้นไม้ สัตว์ น้ำ ดิน  หิน ทราย อากาศ  ฯลฯ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตต้องได้รับการอนุรักษ์ สิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้นรอบๆตัวฉัน  เช่น  บ้านอยู่อาศัย  ถนนหนทาง  สวนสาธารณะ  สถานที่ต่าง ๆ ฯลฯ  เป็นสิ่งที่ใช้ประโยชน์ร่วมกัน  ทุกคนรวมทั้งฉันช่วยกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและรักษาสาธารณสมบัติโดย ไม่ทำลายและบำรุงรักษาให้ดีขึ้นได้
                                (4)  สิ่งต่างๆ รอบตัวเด็ก เด็กควรจะได้รู้จักสิ่งของเครื่องใช้ ยานพาหนะและการสื่อสารต่างๆ ที่ใช้อยู่ในชีวิตประจำวันของเด็ก ทั้งนี้เมื่อเด็กมีโอกาสเรียนรู้แล้วเด็กควรเกิดแนวคิด ดังนี้
v สิ่งต่างๆรอบตัวฉันส่วนใหญ่มีสี ยกเว้นกระจกใส พลาสติกใส                น้ำบริสุทธิ์  อากาศบริสุทธิ์  ฉันเห็นสีต่างๆด้วยตา  แสงสว่างช่วยให้ฉันมองเห็นสี  สีมีอยู่ทุกหนทุกแห่งที่ฉันสามารถเห็น ตามดอกไม้  เสื้อผ้า  อาหาร  รถยนต์  และอื่น ๆ  สีที่ฉันเห็นมีชื่อเรียกต่างๆกัน  เช่น แดง  เหลือง น้ำเงิน  ฯลฯ   สีแต่ละสีทำให้เกิดความรู้สึกต่างกัน  สีบางสีสามารถใช้เป็นสัญญาณ  หรือสัญลักษณ์สื่อสารกันได้
v สิ่งต่าง ๆ  รอบตัวฉันมีชื่อ  ลักษณะต่าง ๆ  กัน  สามารถแบ่งตามประเภท  ชนิด  ขนาด  สี  รูปร่าง  พื้นผิว  วัสดุ  รูปเรขาคณิต  ฯลฯ
v การนับสิ่งต่าง ๆ ทำให้ฉันรู้จำนวนสิ่งของ  และจำนวนนับนั้นเพิ่มหรือลดได้  ฉันเปรียบเทียบสิ่งของต่างๆ ตามขนาด  จำนวน  น้ำหนัก  และจัดเรียงลำดับสิ่งของต่าง ๆ ตามขนาด  ตำแหน่ง  ลักษณะที่ตั้งได้
v คนเราใช้ตัวเลขในชีวิตประจำวัน  เช่น   เงิน  โทรศัพท์  บ้านเลขที่ ฯลฯ        ฉันรวบรวมข้อมูลง่าย ๆ  นำมาถ่ายทอดให้ผู้อื่นเข้าใจได้โดยนำเสนอด้วยรูปภาพ  แผนภูมิ   แผนผัง  แผนที่  ฯลฯ
v สิ่งที่ช่วยฉันในการชั่ง ตวง วัด  มีหลายอย่าง  เช่น  เครื่องชั่ง  ไม้บรรทัด  สายวัด  ถ้วยตวง  ช้อนตวง  เชือก  วัสดุ  สิ่งของอื่น ๆ  บางอย่างฉันอาจใช้การคาดคะเนหรือ              กะประมาณ
v เครื่องมือเครื่องใช้มีหลายชนิดและหลายประเภท  เช่น  เครื่องใช้ในการทำสวน การก่อสร้าง เครื่องใช้ภายในบ้าน  ฯลฯ  คนเราใช้เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงาน  แต่ขณะเดียวกันต้องระมัดระวังในเวลาใช้เพราะอาจเกิดอันตรายและเกิดความเสียหายได้ถ้าใช้ผิดวิธีหรือใช้ผิดประเภท  เมื่อใช้แล้วควรทำความสะอาด และเก็บเข้าที่ให้เรียบร้อย
v ฉันเดินทางจากที่หนึ่งไปยังที่หนึ่งได้ด้วยการเดินหรือใช้ยานพาหนะ  พาหนะบางอย่างที่ฉันเห็นเคลื่อนที่ได้โดยการใช้เครื่องยนต์ ลม ไฟฟ้า หรือคนเป็นผู้ทำให้เคลื่อนที่  คนเราเดินทางหรือขนส่งได้ทั้งทางบก  ทางน้ำ  ทางอากาศ   พาหนะที่ใช้เดินทาง  เช่น  รถยนต์   รถเมล์  รถไฟ   เครื่องบิน  เรือ  ฯลฯ  ผู้ขับขี่จะต้องได้รับใบอนุญาตขับขี่และทำตามกฎจราจรเพื่อความปลอดภัยของทุกคน และฉันต้องเดินบนทางเท้า ข้ามถนนตรงทางม้าลาย  สะพานลอย  หรือตรงที่มีสัญญาณไฟ  เพื่อความปลอดภัยและต้องระมัดระวังเวลาข้าม
v ฉันติดต่อสื่อสารกับบุคคลต่างๆได้หลายวิธี  เช่น โดยการไปมาหาสู่   โทรศัพท์  โทรเลข  จดหมาย  จดหมายอิเลคทรอนิคส์   ฯลฯ  และฉันทราบข่าวความเคลื่อนไหวต่างๆ รอบตัวด้วยการสนทนา  ฟังวิทยุ  ดูโทรทัศน์  และอ่านหนังสือ  หนังสือเป็นสื่อในการ ถ่ายทอดความรู้ ความคิด ความรู้สึกไปยังผู้อ่าน ถ้าฉันชอบอ่านหนังสือ ฉันก็จะมีความรู้ ความคิดมากขึ้น   ฉันใช้ภาษาทั้งฟัง  พูด  อ่าน  เขียน  เพื่อการสื่อความหมายในชีวิตประจำวัน